วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติของสื่อ

คัคลอกจากบล๊อคของ อ.อนุทิน วงศ์สรรคกร
นิรุติ กรุสวนสมบัติ
กรกฎาคม ๒๕๕๑

สรุปบทสนทนาและใจความบางส่วนของ อนุทิน วงศ์สรรคกร และ นิรุติ กรุสวนสมบัติ สองผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพฤติกรรมการออกแบบ เกี่ยวกับการทำความเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของสื่อ บันทึกจากการบรรยายพิเศษที่ บริษัท อมรินทร์ แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ บทสรุปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการบรรยายกึ่งสนทนาร่วม ๓ ชั่วโมง ซึ่งกินความถึงภาคของเทรนด์(เปลือก)ทางการออกแบบซึ่งได้ถูกละออกไปจากบทสรุปนี้ 

เมื่อพูดถึงสื่อที่อิงเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต

-----» ในขณะที่จำนวนผู้ใช้และความใกล้ชิดกับสังคมออนไลน์ มีแนวโน้มสูงมากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว อัตตราการมีส่วนร่วม เป็นตัวเลขที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลง การเข้าถึงอุปกรณ์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากต่อทักษะและการปรับตัวเพื่อรับสื่อสมัยใหม่ เนื่องด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่ต้องใช้ความรู้ทางอุปกรณ์เข้ามามากกว่า สื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการพิมพ์ (Primitive Media) ฉะนั้นนอกจากทักษะการรับและเข้าถึงแล้ว การสร้างฐานข้อมูลของสื่อก็ต้องถูกพัฒนาตามกัน เช่นทักษะของการสร้างเวปไซท์ และระบบนำทาง (Navigation) การจัดการลำดับของเนื้อหาให้เป็นไปตามธรรมชาติที่เกิดใหม่ 

การเสพสื่อที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นอีกอุปสรรคหลักของของพัฒนาการทางด้านเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เกิดซ้ำซ้อนบนปัญหาการขาดแคลนเนื้อหาที่ยังไม่ได้รับการสนองเท่าที่ควรอยู่ก่อนหน้าแล้วในสื่อหมวดสิ่งพิมพ์ ปัญหาคุณภาพของเนื้อหานี้เอง ทำให้เวบไซท์ของประเทศไทยอุดมไปด้วยเว็บบอร์ด และการออกความคิดเห็นด้วยอารมณ์มากกว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงวิภาค และเชิงวิชาการที่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อการค้นคว้า เนื้อหาในลักษณะเชิงข้อมูล (Content based website)กลับมีผู้สร้างน้อยมาก เพราะเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการสร้างเนื้อหา และการสร้างบุคลากรเพื่อผลิตเนื้อหา ในยุคของสื่อสิ่งพิมพ์จึงยังคงวนเวียนอยู่และสะท้อนปัญหาเดิม 

ลักษณะนิสัยของการใช้สื่อและทักษะการสื่อสาร

-----» การที่สังคมการสื่อสารไทยไม่ได้เติบโตจากเนื้อในออกมาสู่วิธีการจัดการภายนอก แต่เป็นการคัดลองวิธีการสื่อสารโดยมีรูปแบบสื่อ (เทคโนโลยี) เป็นตัวกำกับ การสื่อสารในภาพที่เห็นกันจึงเป็นเพียงแค่รูปแบบของการสื่อสาร โดยที่คุณภาพของสารที่ผ่านมาในสื่อนั้นมีมวลที่เบาบาง 

เห็นได้ว่าเราสามารถซื้อหาเทคโนโลยีการสื่อสารเท่าเคียงกับนานาประเทศ แต่ทักษะการสื่อสารเป็นตัวเชื่อมสู่คลังข้อมูลที่ต้องการ และกลับมีพัฒนาการที่ความเร็วต่างกันมาก การโตด้วยรูปลักษณ์ของการสื่อสารไม่เพียงพอในการปรับตัวให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

ลักษณะการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป

-----» พฤติกรรมการเสพสื่อแบบผิวๆ (ในการบรรยายใช้คำว่า ‘จิบ’ ข้อมูล ) เกิดขึ้นเพราะมีช่องทางให้เรื่องต่างๆ(ที่อาจจะพอจะอยู่ในความสนใจเพียงแค่เล็กน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง) เข้าถึงเราได้เร็วและง่ายขึ้น เราสามารถรับรู้หลายลักษณะข่าวในเวลาเดียวกัน สังเกตุได้จากการสลับหมวดไปมาของประเภทข้อมูลที่เราสามารถเลือกเสพผ่านจอคอมพิวเตอร์ ทำให้เวลาในการรับข้อมูลจากสื่อสั้นลงจนทำให้เกิดธรรมชาติใหม่ 

การสื่อสารแบบฉับพลัน และการที่เราได้รับการสนองในรูปแบบที่ซับซ้อน เชื่อมโยงมากขึ้น (multi) นี่เองทำให้เกิดผลกระทบในเชิงที่ผู้ใช้รู้ไม่เท่าทันธรรมชาติของสื่อ มีเวลาได้คิดเชิงปะทะกับข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือที่เรียกว่าไม่เท่าทันข้อมูล (อ่านบทความ นี่คือ“ข้อมูล” ประกอบ) ตัวอย่างที่พบเห็นได้ในปัจจุบันขณะคือปัญหาทางสังคม(ปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว)ยิ่งสามารถก่อเหตุเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้เท่าเทียมกับธรรมชาติใหม่ของตัวนำสาร เมื่อเกิดสำลักการเปลี่ยนแปลงของธรมชาติการรับข้อมูล ความรู้ไม่เท่าทันบวกกับโครงสร้างทางสังคมที่ปลูกขึ้นอย่างหละหลวมด้วยเปลือกของวัฒนะธรรมจากหลายถิ่น ทำให้โอกาสการเกิดปัญหาสังคมมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นไปได้สูง 

ชี้ให้เห็นการปรับตัวของเนื้อหาที่มีผลต่อการอยู่รอดของสื่อสิ่งพิมพ์ (นิตยสาร)

-----» ในหมวดของสื่อสิ่งพิมพ์เองเมื่อมีปัญหาสามัญ อย่างเรื่องของคุณภาพของเนื้อเรื่องและกายภาพของเนื้อเรื่องไม่สอดคล้องหรือเอื้ออำนวยกับการออกแบบ เนื้อหาเชิงวิภาคที่เข้มข้นมีน้อย นิตยสารในกลุ่มของเรื่องเบาสมองหรือที่บางคนจำกัดความว่าไร้สาระนั้นมีเยอะ จนกลายเป็นมาตรฐานและความคาดหวังจากผู้อ่าน การมีมากของกลุ่มนิตยสารลักษณะนี้ สะท้อนสภาพสังคมได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการชี้ให้เห็นว่าเนื้อหาแบบสาระและเนื้อหาแบบอ่านทิ้งขว้างต้องมีกลุ่มที่ชัดเจน การปรับตัวเพื่อหนีการจัดระเบียบของเนื้อหาใหม่ หลังจากเนื้อหาลักษณะเล่นๆ เสพแล้วทิ้งทั่วไป กำลังทะยอยย้ายตนเองไปบนสื่อออนไลน์แทน

เนื้อหาแบบที่ต้องการความรวดเร็วมีแนวโน้มที่จะหมดไปจากแผงหนังสือ เช่นข้อมูลประเภทที่เรียกติดปากว่า“อัพเดท” เพราะเป็นสิ่งที่สื่อสิ่งพิมพ์ไม่สามารถให้ได้อีกต่อไป สังเกตุได้จากการลดลงของหนังสือพิมพ์ และแทนที่ด้วยพฤติกรรมการรับสารจากช่องทางอื่นๆ ถึงกระนั้นในประเทศไทยยอดพิมพ์หนังสือพิมพ์ยังไม่ได้ลดลง หากแต่มีแนวโน้มว่าจะมียอดคืนสูงขึ้น เพราะบางส่วนปรับเข้าหาการบริโภคข่าวทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่วนมากกระทำไปพร้อมๆกับกิจกรรมอื่นๆเช่นการเช็คอีเมลล์ 

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือการลดลงของการส่งจดหมาย ที่ส่วนใหญ่จะเหลือแต่การส่งวัสดุหรือสิ่งตีพิมพ์ที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยที่จดหมายหรือโฆษณาแคตตาล็อก (พร้อมลิ้งค์นำไปสู่เวปไซท์) และเรื่องทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการพิมพ์บนกระดาษจะถูกแทนที่ด้วยอีเมลและเอกสารอิเล็คทรอนิค นี่คือโครงสร้างใหม่ของการสื่อสารที่กำลังหยั่งรากลงไปหามาตรฐานใหม่

เราจะเห็นได้ว่านิตยสารไลฟสไตล์ร่วมสมัย ในลักษณะต่างๆ(โมเดินท์ไลฟ์สไตล์) มีมากขึ้น และเริ่มผนวกการออกแบบและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน เพราะนิตยสารมีราคาสูงขึ้นการเลือกซื้อนิตยสารสักฉบับ จึงต้องเป็นนิตยสารที่ค่อนข้างครอบคลุมความสนใจที่กว้างขึ้น หรือเป็นลักษณะเนื้อหาที่เฉพาะกลุ่ม ที่มีความเหนียวแน่น ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มของนิตยสารหรือหนังสือเองก็ตาม ก็จะเดินทางไปสู่ความเป็นพรีเมียมมากขึ้น เพราะเนื้อหาที่อยู่บนความเร็ว (ภาษากองบรรณาธิการมักเรียกว่า“ของสด”) จะเป็นกลุ่มแรกที่จะถูกถ่ายเปลี่ยนไปบนมีเดียใหม่ 

เราควรถามตนเองว่าพร้อมหรือยังในการเดินทางไปสู่จุดนั้น? การมีเวบเอดิชั่นของนิตยสาร จะไม่ได้เป็นเพียงการมีเพื่อความโก้เก๋ หรือเพื่อให้ไม่ล้าสมัยอีกต่อไป และควรที่จะต้องมองให้เป็นเชิงธุรกิจที่สอดคล้องกันในสองระบบสื่อ สิ่งที่น่าจะได้เห็นในเวลาอันไม่ไกลจากนี้ก็คือการที่นิตยสารต้องปรับให้มีการพิมพ์ที่น้อยลง และต้องเสริมด้วยเวปเอดิชั่น ตัวหนังสือหรือนิตยสารที่พิมพ์จริงจะต้องมีความพิเศษมากพอที่จะต้องซื้อเก็บ 

การปรับตัวครั้งนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดว่านิตยสารประเภทใดจะอยู่หรือจะไป ลักชวลลี่ไอเทม หรือสินค้าฟุ่มเฟือย ยังคงจะได้รับความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ต่อไปเพราะมีส่วนสนับสนุนความเป็นพรีเมี่ยมของนิตยสารกระดาษ ที่มีมากกว่าอีแมกกาซีน ซึ่งยังคลุมเคลือว่าการยืมจริตของนิตยสารกระดาษมาบนสื่อที่ควรใช้วิธีเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติและข้อเด่นของสื่อชนิดที่มีการตอบโต้ จะเป็นที่นิยมจนเป็นสื่อมาตรฐานในเชิงธุรกิจได้หรือไม่ ยังคงไม่มีข้อสรุปที่เป็นผลบวก เพราะอาจจะเหมาะสมกับธุรกิจเพียงบางประเภทเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: